ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

เซอริโมยา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เชอริโมยา




น้อยหน่าเป็นผลไม้จำแนกอยู่ในวงศ์แอนโนนาซีอี้ (Annonaceae) ซึ่งถือเป็นพืชที่ค่อนข้างโบราณ พืชในวงศ์นี้มีประมาณ 50 สกุล สกุลที่มีความสำคัญในการปลูกทางการค้ามี 2 สกุล คือ แอนโนนา (Annona) ซึ่งมีประมาณ 100 ชนิด และโรลลิเนีย (Rollinia) มีประมาณ 50 ชนิด ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sugar apple หรือ Sweetsop” ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ฟั้นลี่จือ” คนไต้หวันเรียกว่า “ชื่อเจีย” (เป็นภาษาจีนกลางเช่นเดียวกันแต่เรียกตามความนิยม ถ้าเรียกน้อยหน่าว่า “ซื่อเจีย” ที่เมืองจีนอาจสื่อกันไม่รู้เรื่อง) ถิ่นกำเนิดแถบทะเลคาริเบียน ปลูกได้ดีในเขตหนาวกึ่งร้อนและเขตร้อน เป็นพืชที่ไม่นิยมทำเป็นการค้าในลักษณะ scale ใหญ่ เนื่องจากการติดผลต่ำ ผลเล็ก แตกง่าย และอายุการเก็บรักษาสั้น ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ด้วยการหาสายพันธุ์ที่ผลมีอายุการเก็บรักษายาวนานมาปลูก และต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านวิทยาหลังการเก็บเกี่ยว พืชที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน ได้แก่ กระดังงา การะเวก นมแมว สายหยุด ลำดวน เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เกษตรกรส่วนใหญ่จะรู้จักน้อยหน่าเพียงชนิดเดียว ส่วนไม้ผลในสกุลน้อยหน่ามี 4 ชนิด คือ

          1. เซอริโมยา (cherimoya) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona cherimola Mill. ชื่อสามัญอื่นที่รู้จักกัน คือ cherimoyer, cherimola

          2. น้อยหน่า (sugar apple) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa L. ชื่อสามัญอื่นที่รู้จักกัน เช่น sweetsop เป็นต้น

          3. ทุเรียนเทศหรือทุเรียนน้ำ (soursop) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona muricate L. ชื่อสามัญอื่นที่รู้จัก เช่น Guanabana (สเปน) Graviola (โปรตุเกส) เป็นต้น

          4. น้อยโหน่ง (bullock’s heart) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona reticulate L. ชื่อสามัญอื่นที่รู้จักกัน เช่น Custard apple

          น้อยหน่าและน้อยโหน่ง เป็นผลไม้ที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในเขตร้อน และถือกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา คือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่วนเชอริโมยาเจริญเติบโตได้ดีในเขตกึ่งร้อนหรือที่สูงของเขตร้อน ตั้งแต่ระดับ 800 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง เนื่องจากต้องการภูมิอากาศในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต ผลสกุลน้อยหน่าที่นิยมปลูกเป็นการค้าอีกหลายชนิดที่ใช้รับประทานได้และปลูกเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นสำหรับบริโภค เช่น

          1. อิลามา (llama) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Annona diversifolia Saff. ปลูกในเขตอเมริกากลาง

              2. ทุเรียนเทศภูเขา (mountain soursop) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Annona montana Macf. ปลูกในเขตประเทศเวเนซูเอลาและหมู่เกาะอินดิสตะวันตก

          3. ซอนโคยา (soncoya) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Annona purpurea Moc. ปลูกในเขตอเมริกากลาง

          4. โพเชเต้ (poshe-te) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Annona scleroderma Safford ปลูกในเขตตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกจนถึงกัวเตมาลา
          5. พอนแอปเปิล (pond apple) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Annona glaba L. ปลูกในเขตประเทศเวเนซูเอลา และหมู่เกาะอินดิสตะวันตก
          ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับ มีทั้งพวกผลัดใบและไม่ผลัดใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเรียงเป็นวงวงละ 3 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นของดอก มีคาร์เพล (carpel) หรือช่องรังไข่จำนวนมาก ผลเป็นแบบมีเนื้อนุ่ม เป็นผลแบบผลกลุ่ม (aggregate fruit) ลักษณะที่สำคัญของไม้ผลสกุลน้อยหน่าที่นิยมปลูกเป็นการค้ามีดังนี้
น้อยหน่า
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 2-7 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ เป็นไม้ผลัดใบ เนื้อไม้อ่อน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับบนกิ่ง ใบอ่อนมีขน ใบเป็นรูปหอก ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับ 1 อัน กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศเมียมีช่องรังไข่ (carpel) จำนวนมาก ผลเป็นแบบผลกลุ่ม รูปร่างกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5–10 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่หัวกลับ เปลือกแข็งสีดำหรือสีน้ำตาล
เชอริโมยา 
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 4-7 เมตร เป็นพืชผลัดใบ กิ่งและใบมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงแบบสลับ ใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก สีเขียวเข้ม กว้าง 10–13 เซนติเมตร ยาว 10–25 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม 2-3 ดอก ออกที่มุมก้านใบยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลมีรูปร่างต่างๆ กันไป เช่น รูปกลม รูปหัวใจ รูปกรวย หรือบิดเบี้ยว ผลเรียบ มีรอยบุ๋มหรือตุ่มยื่นขึ้นกับสายพันธุ์ ผลมีน้ำหนัก 200-700 กรัม เนื้อสีขาวครีม เนื้อนิ่ม มีกลิ่นหอม มีเกล็ดประมาณ 20-40 เมล็ดต่อผล รูปร่างกลมยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และกว้าง 1 เซนติเมตร
ทุเรียนเทศ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ไม่ผลัดใบ ลักษณะการเจริญเติบโตของต้นในด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง ต้นสูง 5-7 เมตร ใบสีเขียวเข้ม ด้านบนใบเป็นมัน ก้านใบสั้น ใบเป็นรูปไข่ขอบขนานหรือทรงกระบอก ดอกมีขนาดใหญ่ 3.2-3.8 เซนติเมตร สีเหลืองครีม ผลมีทั้งรูปไข่ รูปกรวย และรูปหัวใจ สีเขียวเข้มเมื่อยังอ่อน และสีอ่อนลงเมื่อผลแก่ มีหนามนุ่มอยู่ทั่วผล ผลมีขนาดใหญ่หนัก 1-10 กิโลกรัม เนื้อผลมีสีขาว ฉ่ำน้ำ รสค่อนข้างเปรี้ยว มีเมล็ด 127-170 เมล็ดต่อผล เมล็ดยาว 1-2 เซนติเมตร สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ทุเรียนเทศและทุเรียนภูเขามีลักษณะต้นและดอกคล้ายกันมาก แต่ผลมีลักษณะต่างกันคือ ทุเรียนเทศภูเขามีผลรูปร่างกลม
น้อยโหน่ง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 6-7.5 เมตร กิ่งอ่อนมีขน เป็นไม้ผลสกุลน้อยหน่าที่เจริญเติบโตแข็งแรงที่สุดในสกุลเดียวกัน นิยมปลูกเป็นการค้า ใบเป็นรูปหอกเรียวยาว ใบเรียบไม่มีขนที่แผ่นใบ มีสีเขียวเข้ม ก้านใบมีขนอ่อนนุ่ม ดอกมีรูปร่างคล้ายดอกน้อยหน่า ออกดอกเป็นกลุ่ม 2-10 ดอกต่อกลุ่ม ผลมีน้ำหนัก 0.1-1 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ผลเป็นรูปหัวใจยาว 10-12 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีชมพูหรือน้ำตาลแดง ผิวผลมีเส้นเป็นลักษณะคล้ายร่างแหปกคลุม เนื้อผลสีขาว เมล็ดมีสีดำประมาณ 40 เมล็ดต่อผล
อะติโมยาเป็นลูกผสมระหว่างน้อยหน่ากับเชอริโมยา ลักษณะของน้อยหน่าและเชอริโมยาปะปนอยู่ในตัว และผันแปรไปตามการผสมแต่ละครั้งทำให้มีลักษณะพันธุ์ที่แตกต่างกันมากพอสมควร ส่วนใหญ่พันธุ์ที่คัดเลือกมาปลูกทางการค้าจะมีลักษณะที่ดีจากน้อยหน่าและเชอริโมยาอยู่ในตัว

CR .https://www.bansuanporpeang.com/taxonomy/term/11052

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น